ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การทำบัญชีมุ่งเน้นความเป็นมาตรฐานมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะของ “ผู้ทำบัญชี” “ผู้ตรวจสอบบัญชี” หรือแม้แต่ “ผู้ใช้งบการเงิน” เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า ในการทำบัญชีแต่ละปี การประมาณการทางบัญชีคืออะไร และมีความสำคัญต่อการทำบัญชีอย่างไรบ้าง วันนี้มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันได้เลย
ประมาณการทางบัญชีคืออะไร?
ประมาณการทางบัญชีก็คือ ทุกอย่างที่บริษัทจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการประมาณการ มีการตั้งสมมติฐานในเรื่องที่มีความไม่แน่นอน และมีผลกระทบต่อจำนวนเงินที่แสดงในงบการเงินของบริษัทด้วยเหตุผลนี้อาจทำให้งบประมาณที่ตั้งสมมติฐานกับงบประมาณจริงไม่เท่ากัน ประมาณการทางบัญชีอยู่รอบตัวอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประมาณการทางบัญชีที่ดีต้องมีความใกล้เคียง เหมาะสม และผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การประมาณการมีกี่ประเภท
การประมาณการทางบัญชีถูกแบ่งออกตามระดับความเสี่ยงได้ 3 ประเภท
- ประมาณการทางบัญชีที่มีความเสี่ยงต่ำ
- ประมาณการทางบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง
- ประมาณการทางบัญชีที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
การประมาณการทางบัญชีถูกแบ่งออกได้ 3 ประเภทตามระดับความเสี่ยง ซึ่งมีปัจจัยหรือองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการแบ่งดังต่อไปนี้
ความไม่แน่นอนของประมาณการทางบัญชี
- ความซับซ้อนของการคำนวณ
- ระยะเวลาที่จำเป็นในการประมาณการ
- ความน่าเชื่อถือของข้อมูล
- ระดับการใช้ดุลยพินิจเพื่อกำหนดสมมติฐาน
ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญรวมไปถึงความเสี่ยงจากการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ
- การแบ่งแยกหน้าที่ภายในกระบวนการจัดทำประมาณการทางบัญชี
- การเปลี่ยนแปลงสมมติฐานหรือวิธีการคำนวณ
- ระดับความระวังของผู้บริหารในการสร้างกระบวนการจัดทำประมาณการทางบัญชี
ความแม่นยำของผลประมาณการปีก่อน
- ความผิดพลาดจากผลการทำประมาณการทางบัญชีของปีก่อนเมื่อเทียบกับผลเสียหายจริงว่ามีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด
- การเปลี่ยนแปลงของตัวแหน่งบุคลากรที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการทำประมาณการทางบัญชี
ลักษณะของกิจการและลักษณะของรายการบัญชีประมาณการ
หากประมาณการที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามีการพึ่งพิงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ย่อมทำให้การทำบัญชีประมาณการมีความซับซ้อนมากกว่าประมาณการของธุรกิจที่ซื้อมาขายไปแบบปกติ
5 ขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาจัดทำประมาณการทางบัญชี
ขั้นที่ 1 กำหนดนโยบาย
บริษัทจะต้องทำการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับประมาณการทางบัญชี เพื่อตอบสนองความเสี่ยงของบัญชีประมาณการในแต่ละระดับ และนโยบายควรพิจารณาใหม่ทุกๆ ปี
ขั้นที่ 2 ประมวลผล
บริษัทจะต้องมีการประเมินผลข้อมูลสารสนเทศเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่มีนั้นครบถ้วนและมีความถูกต้องรวมไปถึงข้อมูลเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องที่จะนำมาคำนวณประกอบการทำประมาณการทางบัญชี
ขั้นที่ 3 ออกแบบวิธีการ
บริษัทจะต้องออกแบบวิธีที่เหมาะสม รวมถึงการทดลองทำแบบจำลองในการคำนวณที่จำเป็นสำหรับประมาณการทางบัญชี
ขั้นที่ 4 ทำการประเมิน
จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถเพียงพอมาประเมินหรือแสดงความคิดเห็นต่อประมาณการทางบัญชีอย่างอิสระ
ขั้นที่ 5 ระบุสมมติฐาน
ต้องตั้งสมมติฐานที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประมาณการทางบัญชี โดยสมมติฐานจะต้องครอบคลุมครบถ้วน รวมไปถึงต้องต้องออกแบบหลักการในการกำหนดเพื่อสนับสนุนที่มาของสมมติฐานอย่างสมเหตุสมผลและมีความชัดเจนครบแต่ละเรื่อง
พอทำความรู้จักกับกับประมาณการทางบัญชีแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะอะไร ก็น่าจะพอมองว่าประมาณการทางบัญชีบางรายการอาจไม่ใช่แค่รายการบัญชีธรรมดาๆ ที่บันทึกแค่รายรับรายจ่าย เดบิต เครดิตผ่านใบสำคัญทั่วไป ยิ่งกว่านั่นก็คือประมาณการทางบัญชีบางรายการควรถูกหยิบยกมาพิจารณาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการตรวจสอบด้วย ที่สำคัญประมาณการทางบัญชีมักเป็นช่องทางที่ผู้บริหารใช้ในการตกแต่งบัญชีเพื่อให้งบการเงินเป็นไปในทิศทางที่ต้องการด้วย
ในปัจจุบันแทบทุกบริษัทจะต้องมีการทำการประมาณรายการบัญชีใดๆ ขึ้นเพื่อการบันทึกบัญชี แถมประมาณรายการบัญชีในทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม หลายคนอาจไม่เคยคิดมาก่อน ทั้งนี้ก็มาจากการพัฒนาและไม่หยุดนิ่งของธุรกิจตลอดจนการยกระดับการทำบัญชีให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล