ด้วยความที่ภาษีมีหลากหลาย ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีศุลกากร และอีกมากมาย ทำให้หลายๆ คนมองข้ามถึงความสำคัญ แต่ที่จริงภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ และวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับภาษีอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวเรา นั่นก็คือภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มาดูกันว่าเจ้าภาษีชนิดนี้คืออะไร แล้วหลักการ หลักเกณฑ์ของมันมีอะไรบ้าง
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร?
ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย คือเงินที่คนจ่าย ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต้องหักเอาไว้ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับคนรับที่เป็นนิติบุคคล หรือคนธรรมดาก็ได้ แล้วนำส่งเป็นภาษีให้กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไปทุกครั้งที่ทำการหักไว้ คนที่หักจะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ให้กับคู่ค้าไว้ด้วยทุกครั้ง
หนังสือรับรองหัก ณ ที่ จ่ายต้องออกทั้งหมดกี่ฉบับ?
โดยปกติต้องออกอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ ต้นฉบับและสำเนา 2 ฉบับแรกออกให้คู่ค้า เพื่อให้คู่ค้าเก็บไว้ใช้ขอคืนภาษีฉบับหนึ่ง และเก็บไว้เป็นหลักฐานฉบับหนึ่ง ส่วนฉบับที่ 3 และ 4 เก็บไว้เอง โดยฉบับที่ 3 เอาไว้สำหรับส่งภาษี (โดยปกติก็จะส่งฉบับนี้ให้กับสำนักงานบัญชีเป็นผู้ทำให้) และฉบับที่ 4 เก็บไว้เป็นหลักฐาน
ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย?
- ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.3 คือ ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 คือ ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ค่าใช้จ่ายที่ต้องทำ หัก ณ ที่จ่าย มีอะไรบ้าง?
ค่าขนส่ง
ทุกๆ ครั้งที่มีการขายของและขนส่ง โดยที่บริษัทหรือนิติบุคคลที่ให้บริการจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่ง จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 1% ถ้าคุณยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ยังไม่ต้องหัก แต่ไปรษณีย์จะไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น
ค่าโฆษณา
การจ้างโพสต์โฆษณาเพื่อช่วยให้แบรนด์หรือสินค้าเป็นที่รู้จักผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ใช่บริการด้านการตลาด ทำหัก ณ ที่จ่าย 2% ส่วนบริการด้านการตลาดคือ การจ้างบล็อกเกอร์รีวิวโฆษณาสินค้า จ้างมาร์เก็ตติ้ง Consult ด้านการตลาดให้ จะต้องหัก 3%
ค่าจ้างรับเหมาหรือบริการต่างๆ
ค่าบริการที่เกิดขึ้นในกิจการทุกอย่างจะต้องมีการหัก ณ ที่จ่าย 3% เช่น บริการรับจ้างทำของ จ้างช่างภาพมาถ่ายรูป จ้างบล็อกเกอร์รีวิวสินค้า จ้างตกแต่งภายใน บริการสถานที่ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ก็เข้าข่ายนี้ เพราะถือเป็นการให้บริการ
ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์
คนที่ไม่มีสถานที่เป็นของตนเอง ถ้าเช่าสถานที่เพื่อจัดสัมมนา หรือจัดอีเวนต์ชั่วคราวถือเป็นค่าบริการ ทำหัก ณ ที่จ่าย 3% แต่ถ้าเราถือกุญแจจะถือเป็นค่าเช่าสถานที่ ต้องหัก ณ ที่จ่ายจากเจ้าของที่ดิน 5% นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกที่ต้องหัก 5% เช่น เช่ารถยนต์ ค่าจ้างนักแสดง และเงินรางวัลจากการแข่งขันหรือการชิงโชคต่างๆด้วย
ข้อยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีอะไรบ้าง?
จำนวนเงินน้อยๆ ที่ไม่ถึง 1,000 บาท ทางกรมสรรพากรมีข้อกำหนดว่าไม่ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ยอดที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 บาท ที่มีสัญญาต่อเนื่อง เช่น ค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เพราะยอดทั้งปีเกิน 1,000 บาท
แบบที่ใช้ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมีกี่แบบ?
- แบบ ภ.ง.ด.3 เป็นแบบที่ใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซึ่งผู้รับเงินเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- แบบ ภ.ง.ด.53 เป็นแบบที่ใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้รับเงินเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
กำหนดโทษกรณีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนเป็นอย่างไร?
- กรณีที่ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือนำส่ง หรือหักและนำส่งไว้แล้วแต่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้มีเงินได้ในจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ยังหักหรือนำส่งไม่ครบถ้วน
- กรณีที่ได้หักเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้วไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนแต่ไม่ได้นำเงินส่งทางราชการ ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดชอบในจำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วเพียงผู้เดียว
- ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่นำเงินส่งภายในเวลาที่กำหนด จะต้องรับผิดชอบเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
- ผู้ใดมีเจตนาละเลยไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
เข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกันขึ้นบ้างหรือยังเอ่ย หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายๆ คน ที่สำคัญอยากให้ทุกคนหันมาสนใจศึกษาเกี่ยวกับภาษีกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ อย่างน้อยรู้เอาไว้จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดเมื่อถึงเวลาที่จะต้องยื่นภาษี สบายใจแถมไม่ต้องกลัวเสียค่าปรับด้วย