กฎหมายใหม่ในยุคดิจิทัล กฎหมายดิจิทัลมีอะไรบ้าง? รู้ทันบัญชี-ภาษีในยุคดิจิทัล

รู้ทันบัญชี-ภาษีในยุคดิจิทัล เพราะกฏหมายไม่ใช่เรื่องไกลตัว

จริงๆ แล้วกฎหมายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันเราอยู่ตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษาเอาไว้บ้าง และวันนี้เราก็มีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับกฎหมายใหม่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมาฝาก

หลักการในกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้อกับดิจิทัล มี 4 เรื่อง มาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วแต่ละอย่างเกี่ยวข้องกับอะไร

  1. การนำส่งภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (E-WHT)

E-Withholding Tax หรือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หักภาษีและนำส่งภาษีที่หักนั้นต่อธนาคารได้ทันที โดยที่ธนาคารจะเป็นผู้นำส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากรเอง ธนาคารจะเป็นตัวแทนของผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีที่หักภาษีไว้ และส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมให้กรมสรรพากร ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการจึงไม่มีความจำเป็นต้องยื่นแบบหัก ณ ที่จ่ายและอาจไม่ต้องออกหนังสือรับรอง ช่วยให้สะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุนในการพิมพ์เอกสาร และการเสียภาษีผิดรูปแบบได้ ผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลการหัก ณ ที่จ่ายและการถูกหัก ณ ที่จ่าย ในระบบอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้

ใครมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้ / ภาษีหัก ณ ที่จ่าย / ภาษีมูลค่าเพิ่ม?

  • ผู้จ่ายเงินได้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ตามแบบ ภ.ง.ด.1, 1ก, 1ก พิเศษ, 2, 2ก, 3, 3ก) 
  • ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ตามแบบ ภ.ง.ด.53, 54) 
  • ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ (แบบ ภ.พ.36)  

มีวิธีการนำส่งอย่างไร

  • ยื่นแบบฯ ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือน) 
  • ยื่นแบบฯ และชำระผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (www.rd.go.th)

2. การยื่นรายการหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Filing)

คือระบบการให้บริการยื่นเอกสารต่างๆ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมเป็นระบบการยื่นโดยส่งเอกสารด้วยตนเอง ผู้ที่จะยื่นเอกสารต้องเดินทางไปยื่นที่จุดให้บริการด้วยตนเอง ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ แต่ระบบ E-filing สามารถให้บริการผ่านหน้าเว็บไซต์ได้เลย ระยะเวลาการดำเนินการเป็นแบบ Real Time คือดำเนินการได้ทันที สามารถประมวลผล สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เข้าถึงได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต สะดวกและรวดเร็ว สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ทันที

E-Filing มีวิธีการใดบ้าง?

  • การยื่นรายการภาษี ระบบ e-Filing ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th)  
  • การใช้บริการของผู้ให้บริการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี   
  • การส่งเอกสารหลักฐานในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  
  • การใช้บริการผ่าน Application Service

3. การจัดทำเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice & Receipt)

คือการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ผ่านระบบ E-Tax Invoice by Email ก่อนส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการสามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดทำใบรับ/ใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการขายสินค้าและการให้บริการทุกครั้ง เมื่อมีการชำระเงิน พร้อมทั้งต้องส่งมอบต้นฉบับใบรับ/ใบกำกับภาษี

E-Tax Invoice & Receipt มีขั้นตอนยังไงบ้าง

  1. นำหลักการระเบียบ E-Tax Invoice & Receipt และ E-Tax Invoice by E-Mail จัดทำประกาศอธิบดี ตาม ม.3 โสฬส    
  2. ยังคงหลักการใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) และการประทับรับรองเวลา (Time Stamp)    
  3.  “ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ตัวแทนนำส่งข้อมูล XML ที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์    
  4. เมื่อระบบของกรมฯ พร้อมสำหรับการรับข้อมูล จะเปิดระบบของการจัดทำใบกำกับภาษี และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน “ผู้ให้บริการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์” และ “ตัวแทนออกทำใบกำกับภาษี”

4. การรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ (Third Party Information)

ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ธุรกรรมที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการมีเงินได้ นอกจากลูกจ้างแรงงาน โดยอาศัยความถี่ของการรับเงิน รวมทั้งจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกับการเป็นผู้ประกอบการ

ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะหมายความว่าอย่างไร?

  • การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน (แบงก์เดียวกัน) ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง ขึ้นไป        
  • การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน (แบงก์เดียวกัน) ตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป

* การนับจำนวนครั้งและจำนวนเงิน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ของทุกปี

ใครบ้างที่มีหน้าที่รายงาน?

  • ธนาคารพาณิชย์          
  • ธนาคารออมสิน          
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร          
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์          
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย          
  • ผู้ประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ 

มีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องรายงาน?

  • ชื่อเจ้าของบัญชี      
  • เลขประจำตัวประชาชน      
  • จำนวนครั้งที่ฝากหรือรับโอน  (ยอดรวม)      
  • จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอน (ยอดรวม) 

ให้รายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของปีที่ล่วงมาที่อยู่ในความครอบครอง  ภายใน 31 มีนาคมของทุกปี กรณีผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อธิบดีต้องสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หากยังเพิกเฉย อธิบดีสั่ง ปรับทางปกครอง 100,000 บาท และปรับรายงานรายวัน วันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

เห็นมั้ยว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ ต้องศึกษาเอาไว้บ้าง อาจจะไม่ถึงขนาดรู้ลึก แต่ก็ควรพอรู้เบื้องต้น ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยทีเดียว