ใครที่พึ่งเคยยื่นภาษีเป็นครั้งแรกกันบ้าง รู้สึกไม่เข้าใจกันบ้างมั้ย วันนี้เราได้รวบรวม 10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการยื่นภาษีในปี 63 มาฝาก มาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง รู้เอาไว้จะได้ไม่งง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องยื่นภาษี หรือเอาไว้เพื่อวางแผนภาษีได้ด้วย
“เงินได้” คืออะไร?
ถ้าให้พูดตามกฎหมายเลย เงินได้ก็คือ อะไรก็ตามที่มีผลทำให้เรารวยขึ้น มีรายได้มากขึ้น หรือถ้าเอาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือรายได้ที่เราได้รับในแต่ละวันนั่นแหละ ไม่ว่าจะจากงานประจำ หรือการขายของ ไม่ว่าเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดล้วนถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งนั้น ยกเว้นแต่ว่ากฎหมายจะระบุอย่างชัดเจนว่า รายได้ที่คุณได้รับนั้นได้รับการยกเว้นภาษี ถึงจะไม่ต้องเสีย
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี หาได้จากไหน
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นเลขที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารการจัดเก็บภาษี ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภท ตามนี้
บุคคลธรรมดา เลขประจำตัวผู้เสียภาษีเลขคือประจำตัวประชาชน 13 หลัก เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักที่ออกโดยกรมสรรพากร
บริษัท,ห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีคือเลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีคือเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักที่ออกโดยกรมสรรพากร
กิจการร่วมการค้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักที่ออกโดยกรมสรรพากร
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะไปหาเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่จ้างงานได้อย่างไร ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทจะถูกระบุไว้ในใบ 50 ทวิ ที่คุณจะไดรับทุกๆ สิ้นปีนั่นเอง
ใบ 50 ทวิคืออะไร หาได้จากไหน?
จากเรื่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหลายคนคงสงสัยว่าใบ 50 ทวิคืออะไร ใบ 50 ทวิหรือหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่ออกมาเพื่อเป็นหลักฐานว่าการรับเงินของคุณถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว โดยคุณสามารถขอใบ 50 ทวิได้จากบริษัทที่จ่ายค่าแรงให้กับคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานฟรีแลนซ์ ทุกครั้งที่ได้รับเงินค่าจ้างจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและต้องได้รับ ใบ 50 ทวิเหมือนกันหมด ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้คุณวางแผนภาษีได้ง่ายขึ้น
หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วยังต้องยื่นภาษีอีกมั้ย?
คำตอบคือ ยังต้องยื่นอยู่ เพราะการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าส่วนหนึ่งเท่านั้น การหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าคุณจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับรายได้ตลอดทั้งปีของคุณถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดให้จ่ายภาษีหรือไม่
ภ.ง.ด. 90 กับ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร
ภ.ง.ด. 90 คือ แบบฟอร์มแสดงรายละเอียดรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากงานประจำด้วย
ภ.ง.ด. 91 คือแบบฟอร์มแสดงรายละเอียดรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่มีรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว
ยื่นภาษีผิด ยื่นใหม่ได้มั้ย ?
สามารถยื่นใหม่ได้ด้วยการเริ่มต้นยื่นภาษีใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง การยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตสามารถเลือก “การยื่นเพิ่มเติม” ได้เลย ซึ่งการยื่นใหม่สามารถทำกี่ครั้งก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาของการยื่นภาษี (ยื่นแบบกระดาษ 01/01/63 – 31/03/63 ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต 01/01/63 – 08/04/63 ) แต่การยื่นภาษีผิดก็จะทำให้คุณได้เงินคืนช้าไปด้วย
พึ่งเรียนจบ ทำงานไม่ถึงปีต้องยื่นภาษีหรือเปล่า?
คำถามนี้จะเจอบ่อยมากๆ และคำตอบก็คือ ต้องยื่น เพราะการยื่นภาษีไม่เกี่ยวกับอายุหรือระยะเวลาการทำงาน ถึงคุณจะเป็นเด็กจนใหม่ทำงานไม่ถึงปี แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ
รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ยังต้องยื่นภาษีมั้ย?
จริงๆ สองอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อถึงเวลาทุกคนต้องยื่นภาษี แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องเสียภาษี ขึ้นอยู่กับรายได้ที่ได้รับทั้งปีว่าถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่
มีเงินได้แต่ไมยื่นภาษีจะเป็นไรมั้ย
เป็นอย่างแน่นอน เมื่อคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์และถึงเวลาคุณจะต้องทำการแสดงแบบเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดา ถึงรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นอยู่ดี ยกเว้นคุณมีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี ถึงจะไม่ต้องยื่นภาษี
ยื่นภาษีไว แต่ทำไมเงินคืนช้า?
มีหลายปัจจัยที่ทำให้คุณได้เงินคืนช้า
- ยื่นภาษีไม่ครบ กรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน
- เอกสารไม่ครบ
- พร้อมเพย์ พร้อมเพย์จะทำให้คุณได้เงินคืนเร็วขึ้น แต่จะต้องเป็นพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น
การยื่นภาษีน่าจะเป็นหนักใจของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่พึ่งจะต้องยื่นภาษีเป็นครั้งแรก หวังว่าคำถามเหล่านี้จะตรงกับปัญหาที่หลายๆ คนกำลังสงสัยอยู่ แต่ถ้าคุณไม่อยากให้การยื่นภาษีของคุณมีปัญหาก็ควรวางแผนภาษีเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำบัญชีรายได้ในแต่ละเดือนเมื่อถึงเวลาจะทำให้คุณทำการยื่นภาษีได้ง่ายขึ้นและไม่ค่อยเดิดข้อผิดพลาด จะได้เงินคืนภาษีเร็วๆ