นักบัญชีภาษีอากรคือใคร หน้าที่ และ 4 ภาษีที่เกี่ยวข้อง

นักบัญชีภาษีอากรคือใคร ต้องดูแลเรื่องอะไรบ้าง แล้วภาษีแต่ละแบบเป็นอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบให้

นักบัญชีภาษีอากร” คุ้นกับอาชีพนี้กันบ้างหรือเปล่า เชื่อว่าหลายๆ คนไม่เคยได้ยินอาชีพนี้ด้วยซ้ำ แต่ถ้ารู้ขอบเขตว่างานที่ทำมีความเกี่ยวข้องกับอะไร อาจจะอ้อกันขึ้นมาก็ได้ วันนี้จะพามาทำความรู้จักกับนักบัญชีภาษีอากร มาดูกันว่าอาชีพนี้คืออะไร แล้วต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง นอกจากนั้นวันนี้มีเรื่องราวของภาษีแต่ละประเภทมาฝากกันด้วย รู้เอาไว้จะได้วางแผนภาษีถูก

นักบัญชีภาษีอากรคืออะไร?

นักบัญชีภาษีอากรคือ คนที่มีความสามารถทางการทำบัญชีและภาษีอากรในคนเดียวกัน คือต้องทำบัญชีได้และต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านภาษีอากรได้อีกด้วย ซึ่งจะพบอาชีพนี้ได้จากบริษัทที่เป็น Consulting Firm อย่างบริษัทที่เป็น Big 4 หรือที่ปรึกษาทางภาษีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ รวมไปถึง ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีอากรในประเทศไทย 

นักบัญชีภาษีอากรทำหน้าที่อะไร?

นักบัญชีภาษีอากรทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านการทำบัญชีให้มีความถูกต้อง ต้องมีความรู้เรื่องภาษีต่างๆ รู้ว่าภาษีแต่อย่างแตกต่างกันอย่างไร ถ้าขาดความรู้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบริษัท มีเบี้ยปรับเงินเพิ่มขึ้นหรือทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหายเนื่องจากไม่ชำระภาษี 

ภาษีที่นักบัญชีภาษีอากรต้องมีความเกี่ยวข้อง

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือบริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้า ซึ่งปัจจุบันเราจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7%

ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดหากขาดความรู้เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งในประเทศขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารเพื่อมาใช้ในการขนส่งซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด ต้องคืนภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เพราะกิจการขนส่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรา 81 จึงไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้

2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก 

ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดหากขาดความรู้เรื่องภาษีเฉพาะ

  • การให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินถือเป็นการเข้าข่ายการประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพานิชย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3 % แต่มีข้อยกเว้นหากเข้าเกณฑ์ตามคำสั่งสรรพากร ที่ ป.26/2534 คือ “กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ”

3. ภาษีสรรพสามิต

คือ ภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น สินค้าที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี (เหล้า บุหรี่) สินค้าและบริการที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย

ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดหากขาดความรู้เรื่องภาษีสรรพสามิต

  • ความรับผิดชอบที่จะเสียภาษีสรรพสามิตตามาตรา 21 เกิดขึ้นเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงงานซึ่งเป็นปกติที่ปฏิบัติ แต่มีเหตุการณ์ที่ควรคำนึงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด คือกรณีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนเกิดขึ้นก่อนนำสินค้าออกจากโรงงาน ให้ถือว่าเป็นความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเกิดขึ้นพร้อมความรับผิดชอบในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

4. ภาษีศุลกากร

คือภาษีที่ไม่เกิดจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นภาษีที่สกัดกั้นการไหลบ่าของสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาภายในประเทศหรือภาษีนำเข้านั่นเอง

ตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดหากขาดความรู้เรื่องภาษีศุลกากร

ในปัจจุบันเกิดข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านสิทธิประโยชน์ของการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรของเขตการค้าเสรี ธุรกิจจำเป็นต้องใช้สิทธิประโยชน์นี้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนักบัญชีภาษีอากรควรศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์และแบบฟอร์มต่างๆ เพื่อความถูกต้อง มีจุดไหนที่ควรระวังต้องดูให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดนอกจากจะไม่ได้สิทธิภาษีแล้วยังต้องจ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีภาษีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนและภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศด้วย ตัวอย่างที่ยกไว้เป็นสิ่งที่นักบัญชีภาษีอากรต้องระวังเป็นพิเศษ และต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ในด้านภาษีต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและไม่เกิดข้อผิดพลาดให้เกิดเป็นความเสียหาย